กระชาย....ช่วยด้วยผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1.รู้และเข้าจประโยชน์ของพืชในการดูแลสุขภาพ
2.รู้และเข้าใจขั้นตอนการใช้พืชในการรักษาสุขภาพ
3.รู้และเข้าใจการเก็บรักษาพืชในการรักษาสุขภาพ
สาระการเรียนรู้
เรื่องพืชสมุนไพร
ชื่อสามัญ / ชื่ออังกฤษ
Boesenbergia
ชื่อวิทยาศาสตร์
Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltro
วงศ์
Zinggiberaceae
ชื่ออื่น / ชื่อท้องถิ่น
กะแอน ระแอน (ภาคเหนือ) ขิงทราย (มหาสารคาม) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระชายเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะเรียวยาว อวบน้ำ ตรงกลางเหง้าจะพองคล้ายกระสวย ออกเกาะกลุ่มกันเป็นกระจุก
มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแกมส้ม
กระชายมีอยู่สามชนิด คือ กระชายเหลือง กระชายดำ และกระชายแดง แต่คนนิยมให้กระชายเหลืองมากกว่าชนิดอื่น ใบกระชายเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน
สีค่อนข้างแดง ใบมีขนาดยาวรีรูปไข่ ปลายใบแหลมมีขนาดใหญ่สีเขียวอ่อน โคนใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ออกดอกเป็นช่อที่ยอด ดอกมีสีขาวหรือขาวปนชมพู
ผลของกระชายเป็นผลแห้ง นิยมปลูกเป็นพืชสวนครัว
สารสำคัญที่พบ
รากและเหง้าของกระชายมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบไปด้วยสารไพนีน (Pinene) แคมฟีน (Camphene) เมอร์ซีน (Myrcene) ไลโมนีน (Limonene) บอร์นีออล (Borneol) และการบูร (Camphor) เป็นต้น
สรรพคุณ
กระชายมีรสเผ็ดร้อน สารสำคัญในรากและเหง้ากระชายมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยเจริญอาหาร
และแก้โรคในช่องปาก และเป็นยาอายุวัฒนะ
วิธีใช้เพื่อเป็นยา / ประโยชน์อื่น
1. แก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย นำรากกระชายย่างไฟให้สุก ตำให้ละเอียดผสมน้ำปูนใสในอัตราส่วน กระชายแก่ 4 หัว ต่อน้ำปูนใส 5 ช้อนแกง คนให้เข้ากันดี
แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 3-5 ช้อนแกง ทุกครั้งที่ถ่าย เมื่ออาการดีขึ้นให้กินวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น เมื่อหายแล้วกินต่ออีก 1-2 วัน วันละ 2 ครั้ง
เช้า-เย็น
2. รักษาโรคริดสีดวงทวาร ต้มกระชายพร้อมมะขามเปียก เติมเกลือแกงเล็กน้อย รับประทานก่อนนอนทุกวัน
3. ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ตำรากกระชาย 1 กำมือให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วนที่เท่ากัน รับประทานก่อนอาหารเย็น 1 ชั่วโมง
ครั้งละประมาณ 1 ถ้วยชา
4. ช่วยบำรุงหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ นำรากกระชายแก่ ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง บดให้เป็นผงเก็บไว้ละลายกับน้ำร้อน
ดื่มแก้อาการเป็นลม
5. ไล่แมลง ใช้รากกระชาย ตะไคร้ หอมแดง ข่า ใบสะเดาแก่ ตำผสมกัน ผสมน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน
ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร
เหง้าและราก
วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
รากกระชายเป็นส่วนผสมของเครื่องแกง ขนมจีนน้ำยา และเป็นส่วนประกอบของขนมอีกหลายชนิดเพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อและปลา เช่น ผัดเผ็ดปลาดุก
แกงเผ็ดเนื้อ แกงป่า หลนปลาร้า ฯลฯ
การจัดการเรียนรู้
1.ทดสอบก่อนการเรียน
2.ศึกษาเอกสารประกอบการเรียนรู้เรื่อง กระชาย
3.ทดหลังการเรียน
4.ประเมินผล
สื่อ/อุปกรณ์
1.ภาพพืชสมุนไพร “กระชาย”
การวัดและประเมินผล
1.แบบทดสอบก่อน/หลังเรียน
2.การตอบคำถามระหว่างเรียน
แล้วพบกับ ครูอ็อด ได้ในบทเรียนใหม่ต่อไปนะครับ